กรมอนามัยเตือนการซื้ออาหารสด อาหารแห้ง ผ่านทางออนไลน์ ในช่วงแยกกักตัว หรือล็อกดาวน์ ต้องตรวจสอบสภาพอาหาร และวันเดือนปีที่ผลิตทุกครั้ง หวั่นเป็นสินค้าเก่าเก็บ เสี่ยงเป็นเชื้อรา และหากยิ่งสั่งซื้อผ่านออนไลน์ ซึ่งไม่ได้ซื้อของด้วยตัวเอง ยิ่งต้องตรวจสอบให้ดี
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การเฝ้าระวังของโรคโควิด–19 ที่ระบาดในขณะนี้ ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีประชาชนที่เป็นผู้แยกกักตัวอยู่ที่บ้าน 14 วัน เพื่อเฝ้าระวังอาการเพิ่มมากขึ้น จึงต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะการเลือกซื้ออาหารสำรองไว้ในกรณีออกจากบ้านไม่ได้ต้องเลือกซื้ออาหารและปรุงประกอบอาหารที่สะอาดและปลอดภัย สำหรับการซื้ออาหารสด ประเภทเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผักและผลไม้ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ เครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ มาเก็บไว้ในปริมาณพอเหมาะ เพื่อช่วยรักษาอาหารให้สดใหม่ไม่เน่าเสียอีกทั้งยังคงคุณค่าวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ และควรแยกอาหารแต่ละประเภทให้เป็นสัดส่วน ไม่ปะปนกัน รวมถึงจัดเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับอาหารแต่ละประเภท เพื่อรักษาคุณภาพและยืดอายุให้เก็บไว้ได้นาน ๆ โดยเฉพาะอาหารสดประเภทเนื้อสัตว์ หากจะเก็บควรล้างให้สะอาดก่อนแล้วนำมาตัดแบ่งหรือหั่นเป็นชิ้นก่อนบรรจุในภาชนะที่ป้องกันการรั่วซึมได้ในปริมาณที่พอเหมาะกับการนำไปใช้ในแต่ละครั้ง แล้วจึงนำไปเก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส ไม่ควรแช่เนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ ๆ หรือทั้งตัวในตู้เย็น เนื่องจากความเย็นอาจจะไม่เพียงพอ ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ชิ้นเล็ก หรือชนิดบด ควรใส่ถุงพลาสติกแช่อยู่ในช่องแช่แข็ง และหมั่นสำรวจวันหมดอายุของอาหารที่เก็บไว้ในตู้เย็น ไม่ควรเก็บอาหารไว้มากเกินไป จนทำให้การถ่ายเทอากาศภายในตู้เย็นทำได้ไม่ดี
หากเป็นอาหารปรุงสำเร็จบรรจุกระป๋อง ผลไม้และน้ำผลไม้กระป๋อง รวมทั้งเครื่องดื่มต่าง ๆ ที่สามารถเก็บไว้ได้นาน ก่อนเลือกซื้อควรอ่านฉลากข้างกระป๋องให้ละเอียด โดยต้องมีเลขสารระบบอาหารในเครื่องหมาย อย. (เลข 13 หลัก) สถานที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต วันเดือนปีที่หมดอายุ ลักษณะของกระป๋องต้องไม่บวม ไม่บุบบู้บี้ ไม่เป็นสนิม ตะเข็บกระป๋องต้องไม่มีรอยรั่วหรือเป็นสนิม ในส่วนการสั่งซื้ออาหารแห้งผ่านออนไลน์จำพวกธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้งและผลไม้แห้งต่าง ๆ อาจทำให้ได้รับสินค้าเก่าเก็บเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อราได้ เนื่องจากอาหารที่ผ่านกระบวนการอบแห้งหรือการตากแห้งเพื่อลดปริมาณน้ำในอาหาร เป็นการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์และชะลอการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดการเน่าเสียของอาหาร อาจมีความเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อราได้ง่าย หากเก็บรักษาที่ไม่เหมาะสม เช่น เก็บไว้ในที่ชื้นเกินไป หรือไม่มีการอบ ให้แห้งดีพอ ก่อให้เกิดสารอะฟลาท็อกซิน เมื่อบริโภคเข้าไปสะสมในปริมาณมากทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้
ทั้งนี้ ก่อนตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าควรสอบถามถึงคุณภาพและวันหมดอายุกับผู้ขายก่อนทุกครั้ง รวมถึงพิจารณาภาพประกอบการขายสินค้าอย่างละเอียด เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ และเมื่อได้รับสินค้าแล้วควรสังเกตบรรจุภัณฑ์ที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิด ซองบรรจุไม่มีรูรั่ว และอ่านฉลากให้ครบถ้วน ตั้งแต่ชนิด ส่วนประกอบ วันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดคุณภาพ และก่อนที่จะนำมาปรุงประกอบอาหารควรล้าง ให้สะอาดเพื่อขจัดสิ่งปนเปื้อนที่อยู่ในอาหาร และควรปรุงสุกทุกครั้งก่อนนำมาบริโภค” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
นอกจากการตรวจสอบอาหารเบื้องต้นแล้ว ยังต้องเพิ่มการระมัดระวังในการ รับส่งอาหาร สินค้า ให้ปลอดภัยจากโควิด-19 ด้วยเพื่อไม่ให้ติดเชื้อ หรือรับเชื้อจากผู้รับส่งอาหาร
ถึงแม้เราจะระมัดระวังถึงขีดสุดยังไง อยู่บ้านตลอด แต่ก็อาจจะพลาดเพราะการรับของก็ได้ ไอที24ชั่วโมงจึงได้รวบรวม 8 ข้อ รับของจากการสั่งของออนไลน์มาแล้ว ควรทำอย่างไร เพื่อให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 มาบอกกันเพิ่มเติม
ข้อที่ 1 – “อย่าออกรับโดยตรง” รับของแบบไร้สัมผัส เว้นระยะห่างกันนะคะ แนะนำให้เราบอกผู้ส่งของ แขวนสิ่งของไว้ที่รั้วบ้านเรา หรือมีโต๊ะ มีกล่องไว้หน้าบ้าน ให้ผู้ส่งของเห็นว่า ถ้ามีของมาส่ง วางไว้ในนี้ได้เลย (แต่ก็ดูที่ที่ของจะไม่หายด้วยนะคะ) … ถ้าเป็นการส่งสินค้าที่เราสั่งซื้อ แนะนำให้ชำระเงินในแอปหรือผ่านออนไลน์ให้เรียบร้อย จะได้ไม่ต้องอยู่ใกล้กับผู้ส่งในการจ่ายเงิน และได้ไม่ต้องหยิบทอนเงิน ป้องกันความเสี่ยงกันทั้งผู้รับ ผู้ส่งค่าาาา
ข้อที่ 2 – “ได้ของมาปุ๊บ วางฆ่าเชื้อไว้ก่อน!!” โดยก่อนที่เราจะนำกล่องพัสดุเข้าบ้านให้เราฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ที่กล่อง ทิ้งไว้ก่อนนอกบ้านหรือในห้องแยกอาจจะสัก 2 วันหากพัสดุชิ้นไหนที่ทิ้งไว้ก่อนไม่ได้จริงๆ ก็ให้เช็ดทำความสะอาดกล่องให้เรียบร้อย ก่อนจับต้องค่ะ … แกะกล่องเอาของออกมาแล้วก็ทิ้งกล่องพัสดุ หรือทิ้งถุงที่ห่อออกไปเลยยิ่งดีนะคะ จะได้ไม่ต้องลุ้นว่ามีเชื้อโรคติดมาไหม
ข้อที่ 3 – “ถ้าอยากเก็บกล่องไว้ใช้ต่อ ก็ต้องฆ่าเชื้อก่อน!!” โดยนำกล่องใบนั้นไปตากแดดก่อน เพื่อทำการฆ่าเชื้อ
ข้อที่ 4 – “ตอนเปิดกล่องแล้ว อย่าลืมล้างมือด้วยนะ” หยิบจับกล่องแล้ว ก็ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือล้างด้วยน้ำสบู่ก็แล้วแต่สะดวกเลยค่ะ
ข้อที่ 5 – “เปิดกล่องออกมาแล้ว ของในกล่อง ก็อย่าลืมฆ่าเชื้อนะคะ” ถ้าหากของชิ้นนั้นสามารถฆ่าเชื้อได้ ก็ควรจะฆ่าเชื้อก่อนนำมาใช้ค่ะ แต่ต้องดูดีๆด้วยนะคะ ว่าถ้าเอาไปตากแดดหรือเอามาฉีดแอลกอฮอล์ของนั้นๆจะเสียหายหรือเปล่า ถ้าฆ่าเชื้อไม่ได้ เพราะจะเสียหาย ก็อาจใช้วิธี อย่าเพิ่งรีบนำมาใช้ วางทิ้งไว้สัก 2-3 วันในที่ที่อากาศไม่เย็น ก็พอจะช่วยได้นะคะ
คราวนี้ ถ้าเป็นอาหารของกินที่เราสั่งจากเดลิเวอรี่ จะฉีดแอลกอฮอล์ใส่อาหารโดยตรงคงจะไม่ดีแน่ เราก็มีวิธีรับอาหาร delivery ที่แนะนำโดยคุณหมอมาบอกต่อกันเลย
ข้อที่ 6 – “ถ้าเป็นอาหาร ให้ทำความสะอาดกล่อง หรือถุงที่ใส่อาหารมาเสียก่อน” อาจฉีดแอลกอฮอล์รอบๆถุง แต่ต้องระวังอย่าฉีดแอลกอฮอล์โดนอาหารนะคะ เดี๋ยวจะทานแอลกอฮอล์ไปด้วยซะงั้น หรือถ้าใครมีเครื่องฆ่าเชื้อด้วย UVC ก็เอาทั้งกล่องเข้าเครื่อง เพื่อฆ่าเชื้อบริเวณรอบนอกกล่องหรือถุงอาหารภายนอกได้เช่นกัน
ข้อที่ 7 – จากนั้น ก็เปลี่ยนภาชนะ “เทอาหารใส่ภาชนะของเราเองที่สะอาด” แล้วต้องระวังด้วยนะคะ ว่าอย่าให้ถุง หรือกล่องที่ใส่อาหารมา มาโดนภาชนะของเรา เพราะอาจจะนำเชื้อมาป้ายได้ แล้วมือเราที่จับถุงหรือกล่องที่ห่ออาหารมาแล้ว ก็อย่าลืมล้างมือด้วยนะคะ ส่วนถุงและกล่องที่ใส่อาหารมานั้นก็ทิ้งไปเลยจะได้ไม่ต้องเก็บสิ่งที่อาจจะมีเชื้อไว้ในบ้าน
ข้อที่ 8 – ข้อนี้สำคัญมากๆ และหลายคนอาจมองข้าม เมื่อนำอาหารมาใส่ภาชนะที่สะอาดของเราแล้วก็ต้อง “นำอาหารไปอุ่นให้ร้อนก่อนทาน” เพื่อฆ่าเชื้อด้วย (ดังนั้นจะเห็นได้ว่า อาหารที่เหมาะแก่การรับประทานจึงไม่ควรเป็นอาหารประเภทอาหารเย็น หรือที่ทำให้สุกหรืออุ่นไม่ได้)